ความเป็นมาของฝ่ายบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการเรียนร่วม
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เริ่มรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องหรือพิการเห็นเข้าเรียนร่วมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2529 ซึ่งในขณะนั้นมหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังเป็นวิทยาลัยครู นักศึกษาที่มีความบกพร่องหรือพิการรายแรกเป็นนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเห็น โดยขณะนั้น มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์เป็นผู้ให้การสนับสนุน ด้วยการส่งครูสอนเสริมมาเป็นผู้บริการนักศึกษากลุ่มดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าเป็นโครงการนำร่องในการให้บริการสนับสนุนนักศึกษาพิการเรียนร่วมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้
สำหรับการเรียนร่วมของนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตก็มีมาตั้งแต่ยังเป็นวิทยาลัยครูเช่นกัน โดยเปิดโอกาสให้เข้าเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านการเรือน แต่ในขณะนั้นยังมีระบบสนับสนุนทางการศึกษาที่ไม่ชัดเจน โดยส่วนใหญ่นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจะใช้ความสามารถและการช่วยเหลือตนเองในการเรียน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ได้รับนักศึกษาที่มีความบกพร่องหรือพิการเข้าเรียนร่วมในสาขาการศึกษาพิเศษ และได้รับนักศึกษากลุ่มดังกล่าวเข้าเรียนร่วมในปีต่อ ๆ มา โดยให้บริการสนับสนุนสำหรับนักศึกษากลุ่มดังกล่าว เช่น หนังสือเสียง หนังสืออักษรเบรลล์ ล่ามภาษามือ เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2541 หลักสูตรการศึกษาพิเศษ (ศูนย์การศึกษาพิเศษในขณะนั้น) ได้จัดจ้างล่ามภาษามือและเริ่มมีการให้บริการนักศึกษาที่มีความบกพร่องหรือพิการอย่างเป็นรูปแบบ โดยบริการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้
สำหรับฝ่ายบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการเรียนร่วมหรือในนาม ศูนย์ DSS (Disability Support Services Center) ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตนั้น ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมีโครงการนำร่องนักศึกษาออทิสติกเรียนร่วมในระดับอุดมศึกษาที่เริ่มดำเนินการในปีนั้น ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ปรัชญา
การบริการสนับสนุนที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด ทำให้นักศึกษาพิการเรียนร่วมพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ
วิสัยทัศน์
ให้บริการสนับสนุนเพื่อให้นักศึกษาพิการเรียนร่วมพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ
เป็นผู้นำด้านบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการเรียนร่วมในระดับชาติและภูมิภาคอาเซียน
พันธกิจ
ให้บริการสนับสนุนให้นักศึกษาพิการเรียนร่วมก้าวข้ามข้อจำกัดทางการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพและดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ
ประเด็นยุทธศาสตร์
1.การพัฒนาคุณภาพการจัดการการศึกษาและบริการเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2.การสร้างองค์ความรู้และการให้บริการสื่อและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาพิการเรียนร่วม
3.การอนุรักษ์ส่งเสริมและสืบสานประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม
เป้าประสงค์
1.ผู้รับบริการได้รับบริการทางวิชาการที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
2.ฝ่ายบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการเรียนร่วมมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการในการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของการให้บริการ (DSS)
3.ผู้รับบริการได้รับความรู้ความเข้าใจในศิลปวัฒนธรรมของไทยควบคู่กับการพัฒนาตน